6 เทคนิคเลี่ยง ล้มแปะ จากประสบการณ์ตรง

[vc_row][vc_column][vc_column_text]การล้มแปะเป็นหนึ่งสิ่งที่เรามักจะเจอกันค่อนข้างบ่อยมากๆ วันนี้ ศูนย์ Kawasaki Real MotoSports เลยมีบทความเทคนิคเลี่ยงล้มแปะมาให้อ่านกันครับ

คนที่ขี่รถมอเตอร์ไซค์ทุกคนโดยเฉพาะบิ๊กไบค์ กว่าจะเรียกได้ว่ามีประสบการณ์บนท้องถนนมากพอ เกือบทุกคนจะต้องผ่านการล้มแปะมาแล้วทั้งนั้น พอประสบการณ์มากเข้า ก็จะรู้จังหวะที่ต้องระวัง ไม่ล้มแปะอีก แม้จะเปลี่ยนไปใช้รถคันใหม่กี่คันก็ตาม วันนี้เลยมาเสนอเทคนิค ป้องกันการล้มแปะ จากประสบการณ์ตรง นำไปใช้ได้จริงครับ

ที่ว่าล้มแปะคืออะไร?

การล้มแปะ คือ การทำรถล้มแบบง่ายๆ ขณะขี่ช้าๆ แทบหยุดนิ่ง หรือหยุดอยู่กับที่ แล้วก็เอียงคว่ำไปเองซะงั้น ไม่ว่าจะเกิดจากสาเหตุใด เช่นเอียงรถมากเกินไป เท้าเหยียดไม่ถึง ฝุ่น ทราย กรวด เบรกกะทันหัน ฯลฯ ก็จะเรียกรวมๆ ว่าล้มแปะบ้าง ล้มพับ

ใครๆ ก็เกลียดการล้มแปะ

อันตรายต่อร่างกาย ถ้าใส่หมวกกันน็อคตลอดเวลา การล้มแปะไม่ทำให้บาดเจ็บ หรืออันตรายอะไรมากมาย อาจจะฟกช้ำตามแขนขา เจ็บใจ เขินอายเพราะโดนเพื่อนในกลุ่มล้อบ้าง ไม่นานก็หาย แต่ถ้าไม่ใส่หมวกกันน็อคแล้ว ก็อาจมีอันตรายถึงชีวิต มีเคสของหนุ่มต่างชาติรายหนึ่ง ขี่มาจอดสี่แยกไฟแดงตามปรกติ พอเอาขายันพื้น เกิดปลายกางเกงยีนส์ไปเกี่ยวกับพักเท้าจนเสียจังหวะ เท้ายันไม่ถึงพื้นแต่รถเอียงไปแล้ว ล้มแปะไปทางขอบทาง ศีรษะกระแทกขอบปูนของถนนเข้าจังๆ เสียชีวิตภายหลังที่โรงพยาบาล

การล้มแปะยังเป็นเรื่องปวดใจ เมื่อมาดูความเสียหายของตัวรถ การล้มแปะทีนึงก็สามารถสร้างริ้วรอย ความเสียหายได้มากมาย ตั้งแต่ปลายแฮนด์ กระจก พักเท้า ก้านเกียร์หัก แฟริ่ง แคร๊งเครื่อง ปลายท่อ และอื่นๆ ยิ่งรถบิ๊กไบค์ด้วยแล้ว การล้มแปะทีนึง ย่อมหมายถึงการต้องเสียเงินซ่อมแซมตั้งแต่หลายพัน เกือบหมื่น ไปจนถึงเป็นแสน ยิ่งรถซีซีมาก รถนำเข้า ค่าใช้จ่ายก็ยิ่งแพง แม้มีประกันก็ยังต้องคิดหนักว่าจะเคลมดีไหม หรือยอมขี่แบบมีริ้วรอยไปก่อน เพราะไม่คุ้มที่จะจ่ายค่า Excess (ค่าเสียหายส่วนแรก)

ไม่อยากล้มแปะ สามารถเลี่ยงได้

ไม่ช้าก็เร็ว คนขี่มอเตอร์ไซค์ก็จะมีวันที่เกิดล้มง่ายๆ ขึ้นมา แต่ถ้ารู้ล่วงหน้าว่าควรระวังอย่างไรบ้าง ก็จะช่วยให้เลี่ยงได้ ไม่ต้องล้มหาประสบการณ์ด้วยตัวเอง จนอาจเสีย self แถมกระเป๋าเงินฟิบอีก

1. รักษาล้อหน้าให้ตั้งตรงเสมอเมื่อต้องเบรกรถจนหยุด

สาเหตุการล้มแปะมากที่สุด คือการเบรกรถจนหยุด ขณะที่หักแฮนด์รถไปจนสุด น้ำหนักรถจะตกไปทางทิศที่หักแฮนด์ไวมาก จนขายันไม่ทัน หรือยันไม่ขึ้น รถพับล้มลงง่ายๆ

ระลึกไว้เสมอว่า รถสองล้อมีสมดุลย์ดีที่สุด
เมื่อรถตั้งตรงล้อหน้าทำองศาตรงไปข้างหน้าเหมือนล้อหลัง
และรถยังมีความเร็วอยู่บ้างไม่หยุดนิ่งกับที่

2. ระวังล้มแปะ ขณะกลับรถ

สาเหตุการล้มแปะเป็นอันดับที่สอง มักจะเกิดตอนกลับรถ U turn ซึ่งเป็นจังหวะที่หลายคนหักแฮนด์จนสุด จนรถล้มพับได้ง่ายๆ เมื่อต้องกลับรถ

– ระวังอย่าจี้รถคันหน้ามากเกินไป หลายคนมักจะล้มจากจังหวะที่รถคันหน้าเบรกกะทันหัน จนต้องเบรกกะทันหันตามขณะที่แฮนด์หักจนสุด แล้วก็ล้มพับตามข้อ 1

– รักษาความเร็ว เลี้ยงคันเร่งในขณะกลับรถ ใช้น้ำหนักตัวช่วยถ่วงฝั่งตรงข้ามกับวงเลี้ยว จะช่วยให้รักษาบาลานซ์ขณะกลับรถวงแคบ

 

3. สังเกตสภาพถนนอยู่ตลอดเวลา

ถนนที่เปียก มีฝุ่น ทราย หินกรวด ตะไคร่ จะลื่นเป็นพิเศษ
– หากขี่มาช้าๆ ให้ประคองความเร็วคงที่ เลี่ยงการเบรกรุนแรง ค่อยๆ เปิดคันเร่ง อาจเลี้ยงคลัทช์ช่วย
– หากต้องเข้าโค้ง พยายามอย่าเบนรถมากเกินจำเป็น ให้ใช้น้ำหนักตัวช่วยถ่วงให้มากขึ้น
– หากต้องหยุดรถบนพื้นผิวเหล่านี้ให้ตั้งรถตรงให้มากที่สุด ล้อหน้าตรงกับล้อหลัง และระวังพื้นรองเท้าลื่นด้วย พยายามเหยียบลงบนพื้นผิวที่ดูแล้วมั่นคงที่สุด ไม่ลื่นง่าย
– เวลาเข้าจอดรถ ค่อยๆพยุง คิดซะว่าถอยเข้าๆออกหลายๆที ดีกว่าใจร้อนหักแฮนด์จนสุด จนล้มแปะ

4. ทางลาดชันต่างๆ

– เลี่ยงการหยุดรถในขณะที่ถนนลาดชัน เช่นโค้งขึ้นเนินบนถนน โค้งทางลงเขา เผื่อระยะห่างรถคันหน้าพอประมาณ เพื่อให้เราสามารถเลี้ยงคันเร่งไปได้ตลอดเวลา แม้คันหน้าจะเบรก เพราะถ้าล้อเรายังหมุนอยู่ แม้จะขี่ช้าๆ รถก็มีบาลานซ์ในตัว ไม่ล้มง่ายๆ

– เมื่อจำเป็นต้องหยุดรถนิ่งในขณะที่ถนนลาดชัน ให้พยายามถ่ายน้ำหนักรถ และเอาขาลงยันพื้นในด้านสโลปขึ้นที่ขายันถึง การขับขี่ในพื้นที่แบบนี้ต้องคิดอยู่ตลอดเวลา การเอาขายันลงไปบนพื้นถนนด้านที่ต่ำกว่า สโลปลาดลง จะหาพื้นไม่เจอ และน้ำหนักรถจะพุ่งตกลงไวมาก จนล้มแปะได้

– หากไม่มีทักษะขับขี่ระดับโปร เลี่ยงความคิดที่จะกลับรถบนทางโค้งชันทุกประเภท ขี่เลยไปอีกหน่อยจนหาพื้นราบได้ก่อน แล้วค่อยกลับรถ จะสบายใจ ปลอดภัยที่สุด

5.จอดเฉยๆก็ล้มแปะได้

อย่าเชื่อใจขาตั้งข้างของรถให้มากนัก ยิ่งรถที่มีน้ำหนักเยอะๆ หากพื้นผิวที่จอด ไม่มีความมั่นคงมากพอ เช่นพื้นดินดำ พื้นหญ้า พื้นโคลนเปียก โอกาสที่จอดไปแล้วกลับมาที่รถอีกทีรถล้มแปะตะแคงคว่ำไปนอนกับพื้นเรียบร้อย เพราะขาตั้งรถส่วนมาก มีพื้นที่นิดเดียวที่ต้องรับแรงกดทับของรถน้ำหนัก 200 กิโล จนขาตั้งค่อยๆ จมดินทำให้รถล้มในที่สุด

ทางแก้มีหลายทาง รถหลายรุ่นมีตีนเป็ดเสริมขายแยก ใช้ต่อให้พื้นที่ขาตั้งใหญ่ขึ้น กระจายแรงไม่จมพื้นง่ายๆ หากหาไม่ได้ เวลาจอดให้มองหา แผ่นไม้ แผ่นหิน ก้อนหินที่ใหญ่พอ รองใต้ขาตั้ง และจอดเข้าเกียร์ไว้ จะช่วยรับน้ำหนักรถ ไม่จมดิน แต่ทางที่ดี เลี่ยงขยับไปหาที่จอดบนพื้นผิวที่มั่นคงกว่า  หรือหากรถมีขาตั้งคู่ ให้ยกขึ้นขาตั้งคู่ไว้  จะดีที่สุด

6. จำไว้เสมอ หากล้อยังหมุน รถจะไม่ล้มง่ายๆ

เป็นหลักฟิสิกส์ที่ว่าเมื่อล้อมอเตอร์ไซค์หมุน จะมีแรงดึงเพื่อรักษาบาลานซ์ให้รถตั้งตรง บ้างก็เรียกว่า centrifugal force บ้างก็ว่า forward force แล้วแต่สถานการณ์ เราสามารถใช้ประโยชน์จากจุดนี้ เซฟการล้มแปะที่เกิดจากการเอียงรถมากเกินไปได้

ตามปรกติหากเรานั่งคล่อมรถอยู่กับที่ จะสามารถเอียงรถซ้ายขวาได้อยู่ช่วงระยะนึง หากเอียงมากไปกว่าจุดๆ นึง จะเกิดเป็นความรู้สึกชั่วพริบตาที่ว่า รถกำลังพับลงเกินกว่าแรงจากมือและขาพยุงไหว คนส่วนมาก ก็จะปล่อยรถทิ้งลง สละยานกระโจนออก หรือล้มไปกับรถเลย แต่หากรถยังติดเครื่องอยู่ การเปิดคันเร่งเพียงเล็กน้อย สามารถช่วยดึงรถขึ้นมาตั้งตรงได้อย่างน่าอัศจรรย์ เลี่ยงการล้มแปะได้แบบหวุดหวิด แต่แน่นอนต้องดูดีๆว่ามีพื้นที่เหลือในการเปิดคันเร่งด้วย เพราะถ้าเราไม่ล้มแปะแต่พุ่งไปชนรถ หรือคนอื่นแทน ก็อาจไม่คุ้มที่จะเซฟรถ ปล่อยให้แปะดีกว่า

ผู้เขียนเองมีจังหวะที่ความเร็วแทบหยุด แล้วเผลอเอนรถมากไป เกือบล้มอยู่ 2-3 ครั้ง แต่สามารถเซฟได้ทันด้วยการเปิดคันเร่งเพียงเล็กน้อย ดึงรถกลับมาตั้งตรงใหม่ เป็นความรู้สึกเสียววูบที่ไม่อยากเจออีก แต่ก็ไม่วายมีบางจังหวะที่ไม่สามารถเซฟได้เลย เพราะเจอทรายบนถนน ล้มแปะทันที และหัวจะถึงพื้นก่อน ไม่สามารถป้องกันศีรษะได้เพราะมือคนขี่จะพยายามยื้ออยู่ที่แฮนด์รถจนจังหวะสุดท้าย กลับมาดูที่หมวกกันน็อคเป็นรอยขูดลึก จนเห็นกับตัวว่าถ้าขี่มอเตอร์ไซค์ไม่ใส่หมวก อันตรายแค่ไหน

หวังว่าเทคนิคต่างๆ เหล่านี้จะช่วยให้นักขี่หน้าเก่าหน้าใหม่ เลี่ยงการล้มแปะให้มากที่สุด ขอให้ทุกท่านขับขี่ปลอดภัยครับ หรืออยากเรียนพื้นฐานการขับขี่สามารถติดต่อได้ที่ ศูนย์ Kawasaki Real MotoSports ได้เลยครับ[/vc_column_text][vc_column_text]

บทความโดย DimsumRacer ปอ

ปอ เป็นผู้ที่หลงไหลรถ 2 ล้อติดเครื่อง โดยมักหาความรู้ต่างๆจากหนังสือและสื่อต่างประเทศ เริ่มขี่มอเตอร์ไซค์ครั้งแรกด้วยรถ 150cc ก่อนยุคบิ๊กไบค์บูมในไทย ก่อนจะมาใช้รถหลากหลายสไตล์และยี่ห้อ ตั้งแต่ 125-900cc ปัจจุบันเขาหลงไหลรถมอเตอร์ไซค์แนวคลาสสิคเป็นพิเศษ ที่เรียกตัวเองว่า ติ่มซัมเรซเซอร์ เพราะความชื่นชอบรถคาเฟ่เรซเซอร์ แต่ชงเอสเปรสโซ่เองที่บ้าน และขี่พาสก๊อยไปกินติ่มซัมมากกว่า[/vc_column_text][/vc_column][/vc_row]

Share this post :

คุยกับเราผ่านทาง SOCIAL MEDIA

Follow Us​