เรื่องโรคภัยไข้เจ็บเป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากเจอ แม้กระทั่งนักกีฬาเองที่ต้องมีการดูแลรักษาสุขภาพให้พร้อมมากที่สุด แม้กระทั่งแค่อาการไข้เล็กๆ น้อยๆ นักกีฬาก็ไม่อยากเจอ เพราะจะทำให้เป็นการรบกวนสมาธิในระหว่างการแข่งขันได้
แต่ถึงแม้จะมีการดูแลสุขภาพมากน้อยขนาดไหน เชื่อหรือไม่ครับว่านักกีฬาแต่ละประเภทเองก็ยังต้องเจอกับปัญหาสุขภาพ โดยเฉพาะอาการบาดเจ็บที่บางครั้งนักกีฬาไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้เลย ถึงแม้จะมีการฟิตของร่างกายมากขนาดไหน แต่ร่างกายก็ไม่สามารถต้านทานไหว อย่างรายการแข่งขันรถมอเตอร์ไซค์ระดับโลกไม่ว่าจะเป็นการแข่งขัน Moto GP หรือว่ารายการ World Superbike ก็ตาม
สิ่งที่นักแข่งต้องประสบปัญหาอยู่อย่างหนึ่งก็คืออาการของ “อาร์มปั๊ม” Arm Pump เป็นสิ่งที่นักแข่งระดับโลกหลายคนเจอ และเป็นสิ่งที่หลายคนเองก็ไม่อยากเจอ และหลายคนก็หนีไม่พ้น เจ้าอาการ “อาร์มปั๊ม” Arm Pump ที่ว่านี้มันเกิดจากอะไรกันแน่ แล้วทำไมนักแข่งที่มีความฟิตขนาดนั้น มีการดูแลร่างกายและอาหารเป็นอย่างดีก็ยังต้องเจอกับอาการนี้ ลองมาดูกันว่าอาการนี้เกิดจากอะไรได้บ้าง
แน่นอนอยู่แล้วว่าทุกคนย่อมรู้ว่ารถแข่งในสนามนั้นมีความแรงทีเดียว ยิ่งเป็นรุ่น Moto GP ต้องมีความเร็วระดับ 300 กิโลเมตรต่อชั่วโมงให้เห็นแน่นๆ และในความเร็วระดับนี้สิ่งที่แฝงอยู่ในความแรงก็คือแรง G ที่นักแข่งต้องเจอ ไม่ว่าจะเป็นตอนเบรกรถเพื่อเข้าโค้งหรือว่าช่วงที่นักแข่งจะต้องเปิดคันเร่งออกจากโค้งให้เร็วที่สุด หรือแม้กระทั่งช่วงทางตรงเอง นักแข่งจะต้องเกร็งช่วงท่อนแขนไปถึงมือแทบจะตลอดช่วงของการแข่งขัน การแข่งขันแต่ละเรซก็ไม่ต่ำกว่า 20 สนาม สนามหนึ่งก็มีความยาวเกือบ 5 กิโลเมตร
ส่วนจะมีโค้งแบบไหนนั้นก็แล้วแต่การออกแบบของแต่ละสนาม ดังนั้นในทุกโค้งของสนามเมื่อนักแข่งขี่มาในทางตรงด้วยความเร็วสูงและต้องเบรกให้ใกล้โค้งมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะจะเป็นการสร้างความได้เปรียบมากกว่าคู่แข่ง ตอนนี้แหละที่ท่อนแขนของนักแข่งจะต้องสู้กับแรง G ที่กดทับลงมาที่ท่อนแขนลงไปสู่ข้อมือ และไม่ใช่แค่นั้น
เมื่อนักแข่งจะต้องออกจากโค้ง จะเห็นได้ว่ารถยังไม่ทันตั้งลำตรงเลย นักแข่งก็เปิดคันเร่งออกตั้งแต่อยู่กลางโค้งแล้วซึ่งนั่นเป็นการสร้างความได้เปรียบให้กับตัวเอง ช่วงนี้แหละที่ทำให้นักแข่งต้องสู้กับแรงและกำลังเครื่องยนต์อย่างมหาศาล ถึงแม้ก่อนเข้าโค้งจะมีเบรกระดับเทพก็ตาม รวมไปถึงช่วงล่างระดับเทพที่หลายคนรู้จัก หรือว่าช่วงออกจากโค้งจะมีคันเร่งที่มีการทดรอบมาแล้วก็ตาม ทำให้นักแข่งบิดคันเร่งเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แม้ว่าจะมีอุปกรณ์ดีๆ เข้ามาช่วยปกป้องนักแข่ง แต่ก็ยังทำให้นักแข่งเกิดอาการบาดเจ็บขึ้นที่ท่อนแขนด้านใน
ทุกครั้งนักแข่งจะต้องมีการเกร็งกล้ามเนื้อบริเวณนี้ จนเกิดอาการชาและเจ็บบริเวณท่อนแขน แน่นอนว่านักแข่งมีการแข่งขันปีหนึ่งอาจจะมีถึง 20 สนาม นี่ยังไม่รวมช่วงซ้อมที่จะต้องขี่อีกไม่รู้เท่าไหร่ ท่อนแขนก็จะรับกับอาการเกร็งอยู่แบบนี้ เมื่อนานเข้าจนเกิดเป็นพังผืดที่ไม่สามารถยืดหยุ่นได้ แต่จะกลายเป็นห่อหุ้มกล้ามเนื้อ และยังจะมีการขยายตัวมากขึ้นไปเรื่อยๆ ส่งผลให้การไหลเวียนของเลือดนั้นยากขึ้น จนส่งผลให้มีระดับออกซิเจนในเลือดต่ำ และเมื่อเป็นเช่นนั้นกล้ามเนื้อก็จะไม่สามารถขยายได้ แต่จะกลับกลายเป็นบีบรัดมากขึ้นกว่าเดิม แขนก็จะมีอาการปวดและแน่นอนว่าส่งผลต่อนักแข่งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทำให้นักแข่งไม่สามารถควบคุมรถได้อย่างเต็มที่ ซึ่งตรงนี้แหละที่เรียกว่าอาการของ “อาร์มปั๊ม” Arm Pump นั่นเอง
ดังนั้นเมื่อเป็นแล้วสิ่งที่นักแข่งหลายคนต้องเจอก็คือต้องได้รับการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด เพื่อให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น เพื่อลดอาการเจ็บและให้นักแข่งสามารถกลับมาควบคุมรถได้ดีเหมือนเดิม แต่ช่วงของการผ่าตัดนั้นก็อาจจะทำให้นักแข่งต้องหยุดพักการแข่งขัน ซึ่งก็อาจจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือน นักแข่งก็สามารถกลับมาทำการแข่งขันต่อได้แล้ว
แต่ถ้าขึ้นไปในระดับโลกแล้วส่วนมากก็จะหนีไม่พ้น ขนาดในระดับเอเชียเองก็เริ่มจะมีการอาการปวดแขนให้ได้เห็นกันบ้างแล้ว แต่ก็ยังไม่ถึงกับต้องผ่าตัด เอาเป็นว่าใครที่อยากเป็นนักแข่งไม่ต้องห่วงว่าจะเป็นตอนนี้ หรือใครที่ขี่รถในสนามบ่อยๆ หรือขี่เพื่อออกกำลังก็ยังไม่เป็นอย่างแน่นอน ส่วนนักแข่งระดับโลกก็ต้องพยายามดูแลร่างกายเพื่อให้สามารถกลับมาแข่งได้ และทำผลงานให้แฟนคลับได้ชื่นชมกันต่อ โดยเฉพาะนักแข่งไทยที่ไปทำการแข่งขันอยู่ในตอนนี้ และในอนาคตก็อาจจะได้เห็นคนไทยได้ขึ้นไปทำการแข่งขันในรุ่น Moto GP ตามที่หลายคนฝันเอาไว้